เจาะลึกเทคนิคการตรวจเช็คและทำความสะอาด คอนเดนซิ่งยูนิต ที่ช่างควรรู้
คอนเดนซิ่งยูนิต เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของระบบทำความเย็น เพื่อให้ห้องเย็นเก็บสินค้ามีสภาพการใช้งานที่คงทน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เจ้าของหรือช่างควรศึกษาเกี่ยวกับหลักการทำงานของเครื่องทำความเย็น โดยเฉพาะคอนเดนซิ่งยูนิต เพื่อคอยสังเกตถึงความผิดปกติ และสามารถแก้ไขเบื้องต้นเมื่ออุปกรณ์เกิดปัญหาขึ้น ป้องกันความเสียใหญ่ที่จะตามมา
ปัญหาเสียงดังที่มักเกิดกับ คอนเดนซิ่งยูนิต หรือ ยูนิตคูลเลอร์
เสียงที่ดังอาจเกิดได้จากหลายกรณี เช่น โครงของคอนเดนซิ่งยูนิต หรือ โครงของยูนิตคูลเลอร์ หรือพัดลมแตก บิดเบี้ยว ลูกปืนมอเตอร์พัดลมเสีย
• โครงของคอนเดนซิ่งยูนิต หรือโครงของยูนิตคูลเลอร์ มีเสียงดัง จะมีอาการสั่นของโครง
เนื่องมาจากการทำงานของคอมเพรสเซอร์ หรือพัดลม เพราะถ้าคอมเพรสเซอร์ หรือพัดลม มีอายุการใช้งานที่นานมากพอสมควร ก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์ หรือพัดลม ทำงานไม่นิ่ง จึงทำให้เกิดการสั่นของโครงได้ หรืออีกกรณีที่อาจเสียงดังได้ เนื่องมาจากการขันสกรูที่โครงไม่แน่น เวลาคอมเพรสเซอร์ หรือพัดลมทำงาน จึงให้เกิดเสียงดังได้
>> วิธีการแก้ไข ถ้าโครงเสียงดังอันเกิดมาจากการทำงานของคอมเพรสเซอร์ ให้ทำการเปลี่ยนลูกยางรองฐานคอมเพรสเซอร์ใหม่ หรือหากเกิดจากการทำงานพัดลม ให้เปลี่ยน พัดลม ใหม่ ถ้าเกิดจากการที่ขันสกรูไม่แน่นก็ให้ทำการขันสกรูใหม่ให้แน่น
• พัดลมคอยล์ร้อน พัดลมยูนิตคูลเลอร์ แตก หรือบิดเบี้ยว ก็จะมีเสียงดัง สาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของใบพัดลม หรือเกิดจากสะสมของน้ำแข็งที่คอยล์เย็นหนาจนมาโดนใบพัดลม เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็จะทำให้ใบพัดไปตีจนเกิดการบิดเบี้ยว และจะแตกในที่สุด หรืออาจเกิดจากการแกว่งของมอเตอร์พัดลมคอยล์ร้อน มอเตอร์พัดลมยูนิตคูลเลอร์ จนทำให้ใบพัดหมุนไปโดนกับโครง ก็จะทำให้ใบพัดนั้นแตกได้เช่นกัน
>> วิธีการแก้ไข ให้ทำการเปลี่ยน พัดลม ใหม่ โดยช่างผู้ชำนาญ
ปัญหาห้องไม่เย็น ที่มักเกิดกับ คอนเดนซิ่งยูนิต หรือ ยูนิตคูลเลอร์
สาเหตุของห้องที่ไม่เย็นเกิดมาจากหลายกรณี เช่น แนวเชื่อมและข้อต่อต่างๆ เกิดการรั่วซึม คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน พัดลมคอยล์ร้อน และพัดลมยูนิตคูลเลอร์ ไม่ทำงาน เทอร์มอมิเตอร์เสีย ในกรณีที่เกิดจากน้ำยาขาด ให้สังเกตบริเวณท่อทองแดงตามจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ จะมีคราบน้ำมันหยดอยู่นั้น เป็นอาการเนื่องมาจากการรั่วของน้ำยาในระบบ หากเกิดกรณีเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมาอีกมากมาย หากนานเกินไปอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยน คอมเพรสเซอร์
>> วิธีการแก้ไข ให้หมั่นสังเกตคราบน้ำมัน และจดบันทึกอุณหภูมิห้องเย็น ว่าทำอุณหภูมิได้ตามปกติหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติ พบคราบน้ำมันหยด หรือพบห้องไม่เย็น ให้ตรวจสอบการรั่วของน้ำยา และให้ทำการซ่อมอย่างเร่งด่วนโดยช่างผู้ชำนาญ
ดูข้อมูลสินค้า คอมเพรสเซอร์ :
ปัญหาคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานในระบบ
คอนเดนซิ่งยูนิต หรือ ยูนิตคูลเลอร์
คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน เกิดมาจากหลายกรณีเช่น น้ำยาในระบบขาด เนื่องมาจากเกิดการรั่วของระบบ จึงทำให้ (Low Pressure Switch) ตัดเพื่อป้องกันคอมเพรสเซอร์เสียหาย หรือคอมเพรสเซอร์ร้อนจนเกินไป จึงทำให้ (High Pressure Switch) ตัดเพื่อป้องกันคอมเพรสเซอร์เสียหาย
>> วิธีการแก้ไข หากคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงานในกรณีที่ตัวป้องกัน (Low Pressure Switch) ตัดคอมเพรสเซอร์ ก็ให้ทำการซ่อมการรั่วให้เรียบร้อยก่อนการเปิดใช้งาน ในกรณีที่ตัวป้องกัน(High Pressure Switch)ตัดคอมเพรสเซอร์ ก็ให้ตรวจพัดลมระบายความร้อนว่าผิดปกติหรือไม่ มีสิ่งสกปรกอุดตันการระบายของแผงคอยล์ร้อนหรือไม่ หากมีให้ดำเนินการจัดการด้วยการล้างทำความสะอาด กดปุ่มรีเซ็ตก็จะสามารถกลับมาทำงานใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่เกิดจากการช็อตของขดลวด หรือน้ำมันในคอมเพรสเซอร์แห้งจนเกิดความเสียหาย ให้ทำการเปลี่ยน คอมเพรสเซอร์ ใหม่โดยช่างผู้ชำนาญ
• พัดลมคอย์ลร้อน พัดลมยูนิตคูลเลอร์ ไม่ทำงาน เกิดมาจากหลายกรณีเช่น เกิดการช็อตกันระหว่างขดลวด ซึ่งจะมีอาการมอเตอร์หมุนช้าหรือไม่หมุนเลย
>> วิธีการแก้ไข ให้ทำการเปลี่ยน พัดลม ใหม่ โดยช่างผู้ชำนาญ
• เทอร์มอมิเตอร์เสีย เนื่องมาจากตัวเทอร์มอมิเตอร์ทำมาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องระมัดระวังไม่ให้สิ่งสกปรก หรือมีน้ำเข้าไป ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถกดเทอร์มอมิเตอร์เพื่อสั่งการทำงานได้
>> วิธีการแก้ไข หากพบความผิดปกติให้ทำการเปลี่ยนเทอร์มอมิเตอร์ใหม่ และแนะนำเปลี่ยนโดยช่างผู้ชำนาญ
การล้างทำความสะอาด คอนเดนซิ่งยูนิต และ ยูนิตคูลเลอร์
การทำล้างทำความสะอาด คอนเดนซิ่งยูนิต และ ยูนิตคูลเลอร์ ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญ และเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจจะทำ 3-6 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และการใช้งาน เนื่องจากต้องมีการถอดชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น ถอดถาดน้ำทิ้งมาล้างเพื่อให้น้ำทิ้งไหลได้สะดวก และใช้ปั๊มน้ำแรงสูง ฉีดล้างทำความสะอาด การตรวจเช็คสภาพระบบทำความเย็น โดยช่างผู้ชำนาญ มีดังนี้
• เช็คความดันของน้ำยาในระบบว่าเหมาะสมและอยู่ที่จุดใช้งานหรือไม่
• ตรวจเช็คจุดรั่วซึม ตามแนวเชื่อม ข้อต่อต่างๆ ระดับน้ำมันที่คอมเพรสเซอร์ และปริมาณน้ำยาในระบบ
• ตรวจระบบไฟฟ้า ระบบการละลายน้ำแข็ง สภาพของสายไฟ สายเซ็นเซอร์ และสายของฮีตเตอร์ที่จุดต่าง ๆ
• ตรวจสอบ และซ่อมแซมฉนวนหุ้มท่อน้ำยาที่เชื่อมต่อระหว่าง คอนเดนซิ่งยูนิต และยูนิตคูลเลอร์